ขอต้อนรับสู่ Freedom Jobs เว็บบล็อกสำหรับคนรัก อาชีพอิสระ ...
ในปัจุบันนี้ เชื่อว่าหลายๆคนกำลังมองหา อาชีพอิสระ ที่เลือกได้ ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร ทำเอง จัดการเอง กินเอง และ ถ้ายิ่งได้อยู่กับครอบครัว อยู่กับธรรมชาติ ที่อากาศบริสุทธิ์ด้วยแล้ว คงเป็นอะไรที่วิเศษที่เดียว แน่นอนครับ เรามีอาชีพที่น่าสนใจมาแนะนำ ซึ่งก็มีทั้ง ด้านการเกษตร การเงิน คอมพิวเตอร์ การหารายได้เสริมออนไลน์ (หารายได้จากเน็ต) ..
มีอะไรบ้างก็ติดตามหาข้อมูลได้เลยครับ...

กระดานเทรดเหรียญคริปโตของไทย

BX.in.th Bitcoin Exchange Thailand

การเพาะเห็ดหอม

เห็ดหอม

เห็ดหอม คล้ายๆกับเห็ดที่ขึ้นบนไม้อย่างอื่น เช่น เห็ดนางรม แต่เห็ดหอมมีความสามารถที่จะย่อยเซลลูโลส และลิกนิน ได้ดีกว่า จึงเจริญเติบโตได้ดีในไม้เนื้อแข็ง เป็นเห็ดที่นิยมบริโภคกันมานานนับศตวรรษในหมู่ชาวจีนและญี่ปุ่น ทั้งนี้นอกจากมีรสชาติดีและกลิ่นหอมแล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีคุณสมบัติทางยาอีกด้วย ถือเป็น ยาอายุวัฒนะขนานหนึ่ง เห็ดหอมมีประสิทธิภาพในการต่อต้านมะเร็ง ลดไขมันในเส้นเลือดและต่อต้านเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไข้หวัด จึงทำให้ผู้บริโภคหันมารับประทานเห็ดหอมกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น

การเพาะเห็ดหอม
วัสดุอุปกรณ์
1. วัสดุเพาะ ที่ได้ผลดี คือ ขี้เลื่อยไม้มะขาม รองมาคือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ขี้เลื่อยไม้กระถินณรงค์หรือขี้เลื่อยไม้เบญจพรรณหมัก และวัสดุเสริม ซึ่งมีส่วนผสมดังนี้ ขี้เลื่อย 100 กก. รำข้าว 5 กก. น้ำตาลทราย 2 กก. ดีเกลือ 0.2 กก. ยิบซั่ม 0.5 กก. ผสมน้ำให้มีความชื้น 55-65%
2. ถุงพลาสติกทนร้อน และอุปกรณ์การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก
3. หม้อนึ่งความดัน หรือถังนึ่งไม่อัดความดันพร้อมอุปกรณ์การให้ความร้อนในการนึ่งฆ่าเชื้อ
4. โรงเรือน หรือสถานที่บ่มเส้นใยและให้ผลผลิต
วิธีการเพาะ
1. ผสมวัสดุเพาะและวัสดุเสริมทั้งหมดให้เข้ากัน อย่าให้แห้งหรือแฉะ ให้วัสดุพอจับตัวกันได้ เมื่อบีบดูต้องไม่มีหยดน้ำ เมื่อคลายมือออก ส่วนผสมต้องไม่แตกร่อนออกอย่างรวดเร็ว
2. บรรจุส่วนผสมลงในถุงพลาสติกทนร้อน อัดแน่นพอประมาณ ถุงละ 1/2 -1 กก. ใส่คอขวดปิดจุกสำลี และปิดทับด้วยกระดาษหรือฝาครอบกันไอน้ำ
3. แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันเป็นเวลา 40 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ด้วยความดัน 15-20 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (หรือใช้ถังนึ่งไม่อัดความดันก็ได้ผลดีพอควร โดยเริ่มจับเวลาตั้งแต่ไอน้ำเดือดพุ่งตรงสม่ำเสมอ เป็นเวลา 2-4 ชั่วโมง ต้องรักษาระดับไอน้ำไว้ตลอดเวลาด้วยการปรับความร้อนให้มีอุณหภูมิภายในถังนึ่ง 85-100องศาเซลเซียสตลอดเวลา)แล้วทิ้งให้เย็น
4. แกะกระดาษหรือฝาครอบออก เปิดจุกสำลีแล้วใส่เชื้อเห็ด (นิยมใช้หัวเชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่าง) ควรทำในบริเวณที่สะอาด ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค แล้วนำไปบ่มเส้นใย
5. การบ่มเส้นใยระยะเวลาที่บ่มเส้นใย 3-4 เดือน ขึ้นกับน้ำหนักอาหารที่ใช้ หรือมีการสร้างตุ่มดอกประมาณ 2/3 ของก้อนเชื้อ
ปัจจัยที่สำคัญและการดูแลรักษา
1. อุณหภูมิ การบ่มเส้นใยเห็ดหอมที่ดีที่สุดคือที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส การทำห้องหรือโรงเรือนที่ตั้งอยู่ใต้ร่มเงาไม้สำหรับบ่มเส้นใยอย่างง่าย เช่น ทำจากหญ้าคา, จากฟาง, ไม้ไผ่ ฯลฯ ก็ได้ และมีการให้น้ำภายนอกโรงเรือน หรือบริเวณพื้นโรงเรือนเป็นครั้งคราวเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส
2. ความชื้น มีความจำเป็นสำหรับระยะเวลาที่ให้ผลผลิต ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมกับการเจริญของเชื้อเห็ดหอมอยู่ระหว่าง50-85% ในระยะบ่มเส้นใยไม่ต้องการความชื้นในบรรยากาศเหมือนเห็ดทั่วไป ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำถูกสำลี ซึ่งอาจจะเป็นทางให้เชื้อโรคเข้าทำลายได้
3. อากาศ การถ่ายเทอากาศที่ดีจำเป็นต่อการเจริญของดอกเห็ด และทำให้มีการสะสมเชื้อโรคน้อยลง ถ้ามีการสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากจะทำให้เห็ดมีก้านยาว บางครั้งหมวกเห็ดอาจจะไม่เจริญหรือมีลักษณะผิดปกติอื่น ๆ
4. แสง ช่วยกระตุ้นให้เส้นใยเกิดตุ่มเห็ด สร้างแผ่นสีน้ำตาล และเจริญเป็นดอกเห็ดได้เร็วกว่าที่มืดและยังช่วยให้หมวกเห็ดมีสีเข้มไม่จางซีด
5. การแช่น้ำเย็น หลังจากบ่มเส้นใยสมบูรณ์แล้ว ให้แช่ก้อนเชื้อในน้ำเย็น 2 ชั่วโมง หรือค้างคืนก็ได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดดอก
โรคและศัตรูเห็ดหอม
1. เชื้อรา เป็นศัตรูที่สำคัญของเห็ดหอม ได้แก่ ราดำ ราเขียว ราเมือก ซึ่งจัดว่าเป็นศัตรูที่คอยทำลายเห็ดหอมในก้อนเชื้อและท่อนไม้ เชื้อราพวกนี้จะเจริญเติบโตในที่อับชื้นมากเกินไป อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ดังนั้นจึงควรระวังรักษาโรงเรือนให้สะอาด อย่าให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และศัตรูของเห็ดหอม
2. วัชเห็ด ซึ่งชอบเจริญบนท่อนไม้ระหว่างพักเชื้อ ซึ่งเป็นพวกที่ชอบความชื้นมาก และจะเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิ 20-30 องศาเซลเซียส ดังนั้นโรงเรือนที่ใช้ในการพักเชื้อไม่ควรให้มีความชื้นมากเกินไป และควรให้อากาศระบายถ่ายเทได้สะดวก ส่วนท่อนไม้ที่นำมาเพาะเชื้อต้องระวังอย่าให้เปลือกแตก เพราะอาจทำให้เชื้อวัชเห็ดจากภายนอกเข้าไปเจริญในท่อนไม้ได้
3. เชื้อที่มีลักษณะคล้ายไวรัส อาจแพร่ระบาดทำลายเส้นใยเห็ดหอมได้ ดังนั้นการเลี้ยงเชื้อเห็ดหอมบนอาหารวุ้น ควรตรวจเส้นใยเห็ดหอมตลอดเวลาว่ามีเชื้อไวรัสปลอมปนหรือไม่ ถ้ามีให้คัดทิ้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ
ฤดูกาลเพาะที่เหมาะสม ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับสภาพของประเทศไทย จะมีอยู่ประมาณ 4 เดือน คือ เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธุ์ ควรเริ่มทำการเพาะตั้งแต่ เดือนมิถุนายนถึง เดือนกรกฎาคม เพื่อที่จะได้ทำการบ่มเชื้อเห็ดหอมในวัสดุเพาะ มีการเจริญเติบโตเต็มที่และมีการสะสมของอาหารที่มากพอ
การให้ผลผลิต โดยเปิดปากถุงให้ออกดอกทางด้านบนหรือเปลือยก้อนเชื้อโดย แกะถุงพลาสติกออกทั้งหมดให้ก้อนเชื้อสัมผัสอากาศ เป็นการกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ด ถ้าต้องการเห็ดดอกใหญ่ก็เปิดให้มีการเกิดดอกเป็นบางส่วน การเปลือยก้อนเชื้อจะได้ดอกเห็ดจำนวนมาก แต่ดอกจะเล็ก และอาจจะมีการปนเปื้อนจากเชื้อโรคหรือถูกกระทบจากสภาพแวดล้อมได้ง่าย ผลผลิตดอกเห็ดสดจะได้ 50-400 กรัมต่อก้อนเชื้อ 1/2 - 1 กก. ขึ้นกับความใส่ใจและเทคนิควิธีการของผู้เพาะเห็ด
การทำแห้งเห็ดหอมทำได้ 2 วิธี
1. การตากแห้งโดยตากแดด จนกว่าดอกเห็ดจะแห้งสนิท ควรหลีกเลี่ยงตากแดดจัดมากเกินไป เพราะจะทำให้ดอกเห็ดไหม้เกรียมและควรคว่ำดอกเห็ดให้ครีบอยู่ด้านใต้ เพื่อป้องกันครีบสีคล้ำ การตากแดดเป็นวิธีลดความชื้นในดอกเห็ดในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ดอกเห็ดยุบตัวมากเมื่อดอกเห็ดแห้งสนิทดีแล้ว เก็บในภาชนะที่กันความชื้น มิฉะนั้นอาจจะมีเชื้อราเกิดขึ้นได้
2. การอบแห้งใช้ลมร้อน ค่อย ๆ ลดความชื้นภายในดอกเห็ด ซึ่งจะได้เห็ดที่มีคุณภาพที่ดีกว่าเห็ดที่ตากแดด การอบใช้ อุณหภูมิ เริ่มแรกประมาณ 30 องศาเซลเซียส จากนั้นเพิ่มอุณหภูมิขึ้นทีละ 1-2 องศา ทุก 1 ชั่วโมง จนถึง 50 องศาแล้วเพิ่มให้เป็น 60 องศาและรักษาอุณหภูมิระดับนี้ไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มรสชาติ กลิ่น และทำให้ดอกเห็ดหอมมีลักษณะเป็นเงาสวยงาม
ราคาเห็ดหอมโดยทั่วๆไปจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 150 - 200 บาท

การเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น

เห็ดโคนญี่ปุ่น
เห็ดโคนญี่ปุ่น หรือ เห็ดยานางิ มีชื่อสากลว่า Agrocybe cylindracea Maire ดอกมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิที่เห็ดออกดอก ถ้าอุณหภูมิยิ่งเย็นสีจะยิ่งเข้ม ก้านดอกสีขาว เนื้อแน่นและมีเนื้อเยื่อยาว ทำให้ไม่เปราะหรือหักง่าย รสชาติคล้ายกับเห็ดโคนไทย เป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่งที่มีตลาดผู้บริโภคอยู่ในเกณฑ์ดี กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางสูง
วิธีการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น
วัสดุเพาะ : วัสดุเพาะที่นิยมมากที่สุด คือขี้เลื่อยจากไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้ยางพารา ไม้งิ้ว ไม้นุ่น ไม้ก้ามปู ไม้กระถินณรงค์ กากเป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้มะขาม ไม้ทุเรียน ไม้ขนุน ต้องทำการหมักสลายยางไม้เสียก่อน วัสดุเพาะที่นิยมกรณีที่ไม่มีขี้เลื่อย คือ ฟางข้าว ต้นข้าวโพด ต้นข้าวฟ่าง วัสดุเพาะดังกล่าวนี้หากนำไปเพาะเห็ด จะทำให้ผลผลิตค่อนข้างสูงคุณภาพดี ไม่มีกลิ่นไม้ รสชาติดีกว่า แต่ต้องทำการหมักจนกว่าวัสดุเพะจะนิ่มและหอม จึงจะสามารถนำไปเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่นได้
สูตรส่วนผสมการเพาะเห็ดโคนญี่ปุ่น
1. ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม
2. รำอ่อน 100 กิโลกรัม
3. ปูนขาว 2 กิโลกรัม
4. ดีเกลือ 3 ขีด
5. พูไมท์ 2 กิโลกรัม
6. แป้งข้าวเหนียว 1 กิโลกรัม
7. น้ำ 60-70%
วิธีคลุกส่วนผสมและการนึ่งฆ่าเชื้อ
นำวัสดุส่วนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน ในขั้นสุดท้ายนำน้ำมาผสมลงไปให้พอเหมาะ อย่าให้แฉะเกินไป บรรจุลงถุงอัดให้แน่น ใส่คอขวดพลาสติค รัดด้วยยางรัด แล้วนำไปนึ่ง ในอุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง การจับเวลาในการนึ่งควรจับหลังจากที่มีไอน้ำพุ่งขึ้นมาเป็นเส้นตรง หลังจากนึ่งเสร็จแล้วปล่อยให้เย็น แล้วนำออกจากหม้อนึ่ง นำเข้าห้องเขี่ยเชื้อ
วิธีการเขี่ยเชื้อเห็ดโคนญี่ปุ่นลงถุงพลาสติค
วัสดุในการเขี่ยเชื้อ
1. ขวดหัวเชื้อเห็ด
2. ตะเกียงแอลกอฮอล์
3. สำลี
4. ไม้ขีดไฟ
5. กระดาษหนังสือพิมพ์ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ขนาด 2.5×4 นิ้ว
6. ยางรัด
ขั้นตอนการเขี่ยเชื้อเห็ดโคนญี่ปุ่น
1. จุดตะเกียงแอลกอฮอล์
2. นำขวดเชื้อมาลนไฟที่ตะเกียง
3. เช็ดมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ 70%
4. นำขวดเชื้อที่ลนไฟแล้วมาแคะหรือย่อยให้หัวเชื้อละเอียด
5. หลังจากเขี่ยเชื้อลงถุงเรียบร้อยแล้ว ปิดกระดาษ แล้วรัดด้วยยางรัดทันที
6. นำก้อนที่เขี่ยแล้ว ขึ้นตั้งเรียงไว้เพื่อบ่มเชื้อในโรงเรือนบ่ม ใช้ระยะเวลาในการบ่ม ประมาณ 45-50 วัน สามารถ นำไปเปิดเอาดอกในโรงเรือนได้
7. เชื้อ 1 ขวด ควรเขี่ยลงถุงได้ 32-35 ถุง
ลักษณะโรงเรือนเห็ดโคนญี่ปุ่นลักษณะ
โรงเรือนเหมือนกับการเพาะเห็ดนางฟ้านางรมทั่วๆ ไปคือขนาด 4.5×10 เมตร ด้านข้างสูง ประมาณ 1.4 เมตร บรรจุก้อนเชื้อได้ 6,000 ก้อน หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบจาก ด้านข้างกั้นด้วยซาแรน 60% โครงสร้างภายในทำเป็นแผง เอียงทำมุม  75 องศา การสร้างโรงเรือนควรสร้างในแนวทิศตะวันออก-ตก เพื่อการถ่ายเทอากาศได้ดี เห็ดโคนญี่ปุ่นชอบอุณหภูมิในโรงเรือนอยู่ที่ 26-28 องศาเซลเซียส โดยจะต้องควบคุมบรรยากาศให้มีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ระหว่าง  80-90 % ความเป็นกรด-ด่าง (PH)    ระดับความเป็นกรดเป็นด่าง ที่เห็ดโคนญี่ปุ่นต้องการอยู่ในระดับค่าเป็นกลาง 6.5-7.5
การดูแลรักษา
หลัง จากบ่มเชื้อครบ 45-50 วัน แล้วนำก้อนเชื้อเข้าสู่โรงเปิดดอก โดยแกะกระดาษ เขี่ยข้าวฟ่างและสำลีออกให้หมด ทำความสะอาดพื้นโรงเรือนการให้น้ำเห็ดโคนญี่ปุ่นในขั้นตอนแรกสำคัญมาก พอเอาก้อนเชื้อเห็ดที่เชื้อเดินเต็มก้อนเข้าโรงเรือนก็เปิดก้อนเชื้อได้เลย จากนั้นเริ่มให้สเปรย์หมอก เปิดสเปรย์หมอกทุก 4 ชั่วโมง ต่อ 1 ครั้ง ครั้งละ 4 นาที ให้สเปรย์หมอกเช่นนี้ตลอด 24 ชั่วโมง นาน 5 วันเห็ดจะออกดอกได้ดี

วิธีการเก็บดอกเห็ดโคนญี่ปุ่นใช้ มือกดปากถุงเห็ดไว้ อีกมือหนึ่งค่อยๆ ดึงดอกเห็ดออกจากถุงอย่าให้หน้าก้อนเห็ดแตก และอย่าพยายามให้มีเศษขาของดอกเห็ดปิดรูถุง เพราะจะทำให้เกิดเชื้อรา ปิดปากถุงเห็ดกันเห็ดรุ่นต่อไปไม่ให้ออกดอกมาได้
ราคาขายเห็ดโคนญี่ปุ่นตามทั่วๆไปจะอยู่ที่ประมาณ กิโลกรัมละ 150 - 200 บาท

การเพาะเห็ดขอนขาว

เห็ดขอนขาว

เห็ดขอนขาว มีชื่อเรียกอื่น เช่น เห็นขอน เพราะพบขึ้นตามขอนไม้ที่หักโค่น หรือถูกตัดฟันต่อมาพบว่ามีเห็ดขอนขึ้นตามธรรมชาติบนขอนไม้เช่นกัน แต่สีดอกเห็ดค่อนข้างดำ จึงเรียกแยกกันให้ชัดเจนว่า เห็ดขอนขาว และ เห็ดขอนดำ ในภาคกลางพบขึ้นเองกับตอมะม่วงในฤดูฝน จึงเรียก เห็ดมะม่วง แต่เมื่อเข้าตลาดพ่อค้าเรียก เห็ดขอน เหมือนกันหมด แม้จะเป็นเห็ดในสกุลของ เห็ดหอม ตามการจำแนกของนักพฤกษศาสตร์ แต่ลักษณะรูปร่างหน้าตาเหมือนกับเห็ดนางรม เพียงแต่ดอกบางกว่า เหนียวกว่า และมีกลิ่นเห็ด (หรือ มัชรูมอโรน่า) หอมกว่า เป็นที่นิยมรับประทานของคนอีสานและคนเหนือ
วิธีทำก้อนเชื้อเห็ด
วัสดุ อุปกรณ์
1.ขี้เลื่อย 100 กิโลกรัม
2.ปูนขาว 2 กิโลกรัม
3.ดีเกลือ 2 ขีด
4.รำละเอียด 7 กิโลกรัม
5.น้ำ
6.ถุงขนาด 6 ½ x12” หรือ ถุงร้อน 7x11”

การทำก้อนเชื้อเห็ด
นำส่วนผสมทั้งหมดมาคุกเคล้าให้เข้ากัน โดย ให้ส่วนผสมได้ความชื้นที่พอดี จากนั้น นำส่วนผสมที่ได้กรอกใส่ถุงให้เต็มถุงแล้ว ทุบให้แน่น แล้วปิดฝา นำถุงที่กรอกส่วนผสมไปนึ่งในเตาความร้อน 100 องศาเซลเซียส ใช้เวลานึ่งประมาณ 3-4 ชั่วโมง แล้วนำออกจากเตา มาพักให้เย็น 12 ชั่วโมง ในห้องที่ไม่มีลมโกรก หลังจากนั้น ต่อเชื้อเห็ดลงใน ก้อนถุงอาหาร แล้วนำก้อนเชื้อไปบ่มในโรงเรือน 45 วัน พอเชื้อเห็ดเดินเต็มทั้งก้อนก็สามารถนำไปเปิดดอกได้
การดูแลก้อนเชื้อเห็ดในโรงบ่มเชื้อ
1.ปัญหาจะมีพวกแมลงหวี่ แมลงวัน แก้ไขด้วยวิธีการน้ำมันเครื่อง ป้ายที่ฝาปิดก้อนเชื้อ และ ล้าง ออกโดยใช้น้ำฉีดก่อนที่จะนำไป เปิดดอก
2. ถ้านึ่งก้อนเชื้อเห็ดไม่สุก จะทำให้เกิดราขาว ราเขียวได้ หรือการที่เกิดราในก้อนเชื้อเห็ดอาจเป็นเพราะ ถุงมีรอยขาดจากการที่ขี้เลื่อยทิ่มถุงแตก ฉะนั้นต้องจัดการให้ดีก่อนนำมาอัดก้อน ด้วยการร่อนเอาเศษไม้ที่หยาบๆ ออกส่วนก้อนที่เศษไม้ทิ่มให้เอาเทปกาวแปะปิดรูให้เรียบร้อย

การเพาะเห็ดขอนขาวในขอนไม้

การใช้ขอนไม้ เช่น ไม้มะม่วง ในการเพาะเห็ดขอนขาว การเพาะเห็ดด้วยวิธีนี้ เราต้องใช้ท่อนไม้มะม่วง แล้วเจาะรู เพื่อนำเชื้อเห็ดอัดลงไปในรูที่เราเจาะ
วิธีการและขั้นตอนการเพาะ
- เตรียมท่อนไม้ ขนาดเส้นผ่าศูนย์ 4 – 6 นิ้ว ความยาว 1 เมตร
- ใช้สว่านไฟฟ้าขนาด 5 - 6 หุน เจาะขอนไม้ที่เตรียมไว้เป็นรู ให้มีความลึก ประมาณ 5 เซนติเมตร โดยทำเป็นแถวๆ ตามความยาวของไม้ และ ให้แต่ละแถวให้ห่างกันประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร
- นำเชื้อเห็ดที่ซื้อมา ส่วนใหญ่เขาใช้ทำมาจากเมล็ดธัญพืชคือเมล็ดข้าวฟ่าง ใส่เชื้อเห็ดลงไปในรูไม้ที่เจาะแล้วประมาณ 10 เมล็ด แล้วนำขี้เลื่อยของไม้ที่เจาะแล้วใส่ลงไปใส่จนแน่น
- หลังจากนั้นใช้ปูนซีเมนต์ผสมทรายอัตราส่วน 1 : 1 คลุกน้ำหมาด ๆ ปิดรูที่ใส่เชื้อเห็ดแล้ว หรือปูนยาแนวกระเบื้อก็ได้
-จากนั้นนำขอนเห็ดไปเก็บพักไว้ในที่ร่ม หรือ ใต้ต้นไม้เพื่อเป็นการบ่มเชื้อเห็ด และ ควรรดน้ำให้ ขอนเห็ดประมาณ 5 – 10 วัน รดสักครั้ง หรือถ้าเห็นว่าขอนแห้งเกินไป ก็สามารถรดน้ำได้เลย

การบ่มเชื้อ

- การวางขอนเห็ด โดยวางขอนไม้ให้เป็นซ้อนกันเป็นสี่ด้าน ไม่ให้ถูกแสงแดด เพราะจะทำให้ขอนไม้แห้งเร็วเกินไป เชื้อเห็ดจะเจริญขยายเส้นใยไม่ได้เต็มที่ การบ่มพักเชื้อจะใช้เวลานาน 2 - 3 เดือน หรืออาจนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของขอนไม้ ถ้าขอนไม้ใหญ่ใช้เวลานานขึ้น เพราะเชื้อเห็ดจะอาศัยน้ำเลี้ยงจากเปลือกไม้เป็นอาหาร ดังนั้นถ้าขอนไม้แห้งเร็วเกินไปควรรดน้ำช่วยด้วย
- เมื่อเชื้อเห็ดเจริญได้ที่ และเปลือกไม้เริ่มผุจนย่างเข้าถึงฤดูฝน เห็ดก็จะออกดอกขึ้นมาเอง โดยไม่ต้อง รดน้ำ ปล่อยให้เห็ดเกิดดอกตามธรรมชาติ ซึ่งผลปรากฏว่า เห็ดออกดอกได้ปีละ 3 - 5 ครั้ง และ ผลผลิตต่อขอนก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าเดิมมาก โดยช่วงเวลาที่เห็ดออกดอกได้ดีเป็นช่วงเวลากลางคืน ถึงเช้ามืด

แต่ปัจจุบันนี้ การเพาะเห็ดขอนขาว เขามีการเพาะเห็ดขอนโดยใช้ก้อนเชื้อ เหมือนเห็ดนางฟ้ากันแล้ว แต่ต้องทำโรงเรือนนะ แล้วการเพาะโดยใช้ก้อนเชื้อ จะให้ผลผลิตที่ดีกว่า การเพาะแบบใช้ขอนไม้
ราคาขายส่งกิโลกรัมละ 55-60 บาท ขายปลีก กิโลกรัมละ 80-100 บาท ซึ่งหากเป็นช่วงฤดูหนาวจะมีราคาถึงกิโลกรัมละ 120-130 บาท

การเพาะเห็ดฟาง

เห็ดฟาง
เห็ดฟางเป็นเห็ดยอดนิยมของคนไทย นิยมเพาะกันบนกองฟางข้าวชื้นๆ โคนมีสีขาว ส่วนหมวกสีน้ำตาลอมเทา หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดตลอดทั้งปีเดิมคนไทยเรียกเห็ดฟางว่า เห็ดบัว เพราะมีเกิดขึ้นได้เองในกองเปลือกเมล็ดบัวที่กะเทาะเมล็ดภายในออกแล้ว ต่อมาเมื่อมีการส่งเสริมให้ใช้ฟางเพาะจึงนิยม เรียกว่า เห็ดฟาง
การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า
เป็นรูปแบบการเพาะเห็ดฟางอีกแบบหนึ่งที่ทำได้ง่าย ใช้พื้นที่น้อยขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ทุกครัวเรือนสามารถทำได้เพื่อบริโภคในครัวเรือน ดอกเห็ดสามารถทยอยออกได้เรื่อยๆ เป็นการลดรายจ่ายด้านอาหารในครัวเรือน และสามารถทำเป็นกิจกรรมเสริมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจได้ด้วย วัสดุที่ใช้เพาะก็สามารถใช้วัสดุเศษเหลือในไร่นาได้เกือบทั้งหมด เช่นเดียวกับการเพาะเห็ดฟางแบบอื่นๆ แต่ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ สามารถนำก้อนเชื้อเห็ดถุงที่เก็บดอกหมดแล้วทั้งเห็ดขอนขาว เห็ดนางฟ้า เห็ดนางรม มาเป็นวัสดุเพาะได้อีกด้วย

วัสดุ อุปกรณ์

- ตะกร้าพลาสติกสูงประมาณ 1 ฟุต ตาห่างประมาณ 1 ตารางนิ้ว
- เชื้อเห็ดฟาง
- ขี้เลื่อย / ฟางแห้ง
- อาหารเสริม (มูลสัตว์ผสมรำ อัตรา 1: 1) หรือปุ๋ยหมัก
- แป้งข้าวสาลี

ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า
เริ่มด้วยการนำขี้เลื่อย หรือฟางแห้งมาใส่ในตะกร้าพลาสติกที่เตรียมไว้ ให้มีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว และใช้มือหรือไม้กดให้แน่น จากนั้นนำเอาอาหารเสริมโรยให้ชิดด้านในของตะกร้าเป็นวงกลม บริเวณที่โรยให้มีความกว้างประมาณ 1 ฝ่ามือ ซึ่งใช้ประมาณ 1 ลิตร ต่อชั้น จากนั้นให้นำเชื้อเห็ดฟางออกจากถุง นำไปคลุกกับแป้งข้าวสาลีพอติดผิวนอก แป้งสาลีนี้จะเป็นอาหารเสริมระยะแรก ที่จะช่วยกระตุ้นให้เชื้อเห็ดเจริญเติบโตได้ดี แล้วโรยทับอาหารเสริมอีกชั้นหนึ่ง ทำเป็นชั้นๆ ลักษณะนี้จนเต็มตะกร้าพลาสติก รดน้ำซ้ำให้ชุ่ม หากก้อนเชื้อเห็ดที่นำมาเพาะยังชุ่มอยู่ก็ไม่ต้องรดน้ำ แต่หากแห้งก็รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้น ควบคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมสำหรับการเกิดดอกเห็ดโดยการปิดโรงเรือนให้มิดชิด ให้อยู่ในอากาศร้อนชื้น เช่น ด้านล่างควรใช้อิฐทับผ้าพลาสติกไว้ เพื่อป้องกันพลาสติกเปิดออก ภายในโรงเรือนควรติดเทอร์โมมิเตอร์ สำหรับวัดอุณหภูมิ ในช่วงวันที่ 1 ถึง 4 วันแรกต้องควบคุมอุณหภูมิในกระโจม หรือในโรงเรือนให้อยู่ในระดับ 37-40 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิสูงเกินไป ให้เปิดช่องระบายอากาศด้านบนของโรงเรือนออกเพื่อระบายอากาศร้อนออก ใช้วัสดุพรางแสงคลุมหรือรดน้ำรอบๆ โรงเรือน เมื่อครบกำหนด 4 วัน ให้เปิดผ้าพลาสติกหรือประตูโรงเรือนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศสะดวก เพื่อให้เส้นใยเห็ดฟางสร้างใยเชื้อเห็ด ถ้าวัสดุแห้งเกินไปให้รดน้ำซ้ำ ในระหว่าง วันที่ 5-8 ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง 28-32 องศาเซลเซียส ซึ่งในช่วงนี้จะมีการรวมตัวของเส้นใยเป็นดอกเล็กๆ จำนวนมาก เมื่ออายุได้ 9-12 วันก็สามารถที่จะเก็บดอกเห็ดจำหน่ายได้
ต้นทุนการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า/ตะกร้า

- ตะกร้า 35 บาท

- เชื้อเห็ด 6 บาท

- ขี้เลื่อย 3 บาท

- อาหารเสริม/แป้งข้าวสาลี 3 บาท

ผลผลิตการเพาะเห็ดในตะกร้า 0.5 - 1 กิโลกรัม/ตะกร้า ราคากิโลกรัมละ 50 บาท

การเพาะเห็ดนางฟ้า

เห็ดนางฟ้า
เห็ดนางฟ้ามีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกับเห็ดนางรม ชื่อ "เห็ดนางฟ้า"เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นในเมืองไทย คนไทยบางคนเรียกว่าเห็ดแขก เนื่องจากมีผู้พบเห็นเห็ดนี้ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย พบขึ้นตามธรรมชาติบนตอไม้เนื้ออ่อนที่กำลังผุ ในแถบเมืองแจมมู (Jammu) บริเวณเชิงเขาหิมาลัย ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Pleurotus sajor-caju (Fr.) Singer เห็ดนางฟ้าถูกนำไปเลี้ยงในอาหารวุ้นเป็นครั้งแรกโดย Jandaik ในปี ค.ศ. 1947 ต่อมา Rangaswami และ Nadu แห่ง Agricultural University, Coimbattore ในอินเดียเป็นผู้นำเชื้อบริสุทธิ์ของเห็ดนางฟ้าเข้ามาฝากไว้ที่ American Type Culture Collection (ATCC) ในอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1975 และเมื่อปี ค.ศ. 1977 ทางกองวิจัยโรคพืช กรมวิชาการเกษตร เป็นผู้นำเชื้อจาก ATCC เข้ามาประเทศไทยเพื่อทดลองเพาะดู ปรากฏว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดี
อีกสายพันธุ์หนึ่งเป็นเห็ดที่มีผู้นำเข้ามาจากประเทศภูฐาน มาเผยแพร่แก่นักเพาะเห็ดไทย ได้มีการเรียกชื่อเห็ดนี้ว่า เห็ดนางฟ้าภูฐาน มีหลายสายพันธุ์ซึ่งชอบอุณหภูมิที่แตกต่างกัน บางพันธุ์ออกได้ดีในฤดูร้อนบ้างพันธุ์ออกได้ดีในฤดูหนาว เป็นที่นิยมมาเพาะเป็นการค้ากันมาก
ลักษณะของดอกเห็ดนางฟ้า มีลักษณะคล้ายกับดอกเห็ดเป๋าฮื้อ และดอกเห็ดนางรม เมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดเป๋าฮื้อ ดอกเห็ดนางฟ้าสีจะอ่อนกว่า และมีครีบอยู่ชิดกันมากกว่า เห็นนางฟ้าสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นนานได้หลายวัน เช่นเดียวกับเห็ดเป๋าฮื้อ เนื่องจากเห็ดชนิดนี้ไม่มีการย่อตัวเหมือนกับเห็ดนางรม ด้านบนของดอกจะมีสีนวลๆ ถึงสีน้ำตาลอ่อน ในอินเดียดอกเห็ดมีขนาดตั้งแต่ 5 - 14 เซ็นติเมตร และจะมีน้ำหนักอยู่ระหว่าง 30 - 120 กรัม เห็ดนางฟ้ามีรสอร่อย เวลานำไปปรุงอาหารจะมีกลิ่นชวนรับประทาน เห็ดชนิดนี้สามารถนำไปตากแห้ง เก็บไว้เป็นอาหารได้ เมื่อจะนำเห็ดมาปรุงอาหาร ก็นำไปแช่น้ำเห็ดจะคืนรูปเดิมได้
เห็ดนางฟ้าเติบโตดีที่ pH. 5 - 5.2 (คือเป็นกรดเล็กน้อย) อุณหภูมิที่เหมาะมากต่อเส้นใยคือ 32 องศาเซลเซียส และสร้างดอกเห็ดได้ดีที่ 25 องศาเซลเซียส เส้นใยสีขาวจัด มีความสามารถเชื่อมต่อเส้นใยได้ดี ให้น้ำตาลในแง่ของอาหารคาร์โบไฮเดรตได้ดีกว่าพวก โพลีแซคคาไรค์ หรืออาหารซับซ้อน

วงจรชีวิต ดอกเห็ดนางฟ้าเมื่อโตเต็มที่จะสร้างสปอร์บริเวณครีบ โดยการปล่อยสปอร์เมื่อแก่ออก เป็นระยะ ๆ เมื่อดอกเห็ดปล่อยสปอร์ออกมาแล้ว สปอร์ก็ปลิวไปตามกระแสลมไปตกในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ก็จะงอกออกมาเป็นเส้นใยขั้นต้นมี 1 นิวเคลียส เส้นใยขั้นที่ 1 เมื่อเจริญเต็มที่แล้ว ก็จะมารวมตัวกัน ซึ่งอาจมาจากต่างสปอร์กัน การรวมตัวของเส้นใยขั้นที่ 1 จะเป็นการเชื่อมกัน แล้วถ่ายทอดนิวเคลียสมาอยู่ในเซลเดียวกัน กลายเป็นเส้นใยขั้นที่ 2 แล้ว ก็จะเจริญเติบโต และสร้างเส้นใยเห็ดแทนเส้นใยขั้นที่ 1 อย่างรวดเร็วบนอาหาร เมื่อเส้นใยขั้นที่ 2 เจริญบนอาหาร และโตเต็มที่แล้ว จะสะสมอาหารแล้วรวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อสร้างดอกเห็ดต่อไป

การเพาะเห็ดนางฟ้า มี 4 ขั้นตอนด้วยกัน

1. เริ่มเรียนรู้วิธีการกินเห็ด เราจะทำธุรกิจเห็ดต้องกินเห็ดเก่ง ต้องปรุงอาหารจากเห็ดหลายชนิด ทำให้อร่อยด้วย สามารถแนะนำผู้ซื้อเห็ดไปปรุงเองได้อย่างมั่นใจ เช่นนี้ทำให้เราพร้อมต่อการขายเห็ด

2. ผลิตดอกเห็ดขาย 90% ของฟาร์มเห็ดที่ทำอยู่เริ่มจากวิธีนี้ โดยทำโรงเรือนขนาดย่อมๆ เพื่อใช้เพาะเอาดอกเห็ด ซื้อถุงเชื้อจากฟาร์มมาผลิตดอก โดยหาความชำนานและความรู้ไปเรื่อยๆ จนเชี่ยวชาญ ขั้นนี้อย่าเพิ่งลงทุนทำถุงเชื้อเอง ให้ซื้อถุงเชื้อจากฟาร์มที่ทำขายดีกว่า เริ่มจากน้อยๆ ทยอยทำ ได้เห็ดมาก็นำไปขายตลาด ขายเองหรือส่งแม่ค้าก็ได้ ขยายตลาดดอกเห็ดเพิ่มมากขึ้นไปเป็นลำดับ จนตลาดใหญ่ขึ้นและสม่ำเสมอดีแล้วจึงคิดผลิตถุงเชื้อ แต่ถ้าตลาดไปไม่ได้ก็หยุดแค่นั้น ไม่ขาดทุนมาก
3. ผลิตถุงเชื้อเห็ด ถ้าตลาดรับซื้อเห็ดและถุงเชื้อมากพอ จึงตั้งหน่วยผลิตถุงเชื้อได้ แต่ถ้าคำนวณว่าซื้อถุงถูกกว่าผลิตเองก็ไม่ควรทำ ควรไปดูฟาร์มทำถุงเชื้อหลาย ๆ ฟาร์ม แล้วมาคำนวณว่าเครื่องมือและวิธีการแบบใดดีที่สุด เตรียมการเอาคนคุมงานไปฝึกงานในฟาร์ม หรือติดต่อจ้างคนชำนาญในฟาร์มเก่ามาทำฟาร์มใหม่ ขั้นตอนนี้ก็ควรซื้อเชื้อข้าวฟ่าง ยังไม่ควรทำเอง การลงทุนขนาดเล็กจะใช้หม้อต้มไอน้ำต่างหาก (สตีมเม่อร์) แล้วต่อท่อมาอบถุงขี้เลื่อยในอีกหม้อต่างหาก ถ้างานนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนเห็นสมควร แล้วค่อยผลิตเชื้อข้างฟ่างและซื้อวุ้นต่อไป
4. ผลิตเชื้อวุ้นและเชื้อข้าวฟ่าง เริ่มทำเมื่องานฟาร์มมีขนาดใหญ่มาก สำหรับระยะ 1 - 2 ปี ที่ผ่านมานั้นถ้ายังไม่ทำเชื้อวุ้นและเชื้อข้าวฟ่างมาก่อน ก็ไม่ควรทำขึ้นใหม่ มีผู้ทำขายมากอยู่แล้ว ซื้อเขาใช้ดีกว่า นอกจากจะห่างไกลซื้อยากจริงๆ แล้วต้องใช้มากจึงค่อยทำ

วิธีการ และ วัตถุดิบ

การเพาะเห็ดนางฟ้า หรือเห็ดในสายพันธุ์นางรมทุกชนิดเป็นเห็ดที่กินหรือเจริญได้ในพวกเวลลูโลส เช่นพวกไม้ หญ้า ฟางข้าว แต่ที่นิยมใช้เป็นวัสดกุเพาะได้แก่พวกขี้เลื่อยไม้ยางพารา หรือพวกไม้เนื้ออ่อนทุกชนิด โดยเฉพาะขี้เลื่อยไม้ยางพารามีมากทางภาคใต้ จึงเหมาะในการเพาะเห็ดมาก ก่อนที่ท่านจะทำการเพาะเห็ดนางฟ้าให้ได้ท่านจะต้องเตรียมอุปกรณ์ต่างให้พร้อมดังนี้

1. ขี้เลื่อยไม้ยางพารา หรือไม้เนื้ออ่อน จำนวน100 ก.ก.(ในการทำครั้งละ100ก.ก.)

2. ดีเกลือที่มีขายตามท้องตลาด ราคา ก.ก.ละ 10-20 บาท ใช้ประมาณ 2-3ขีด

3. ปูนขาวหรือยิปซัม จำนวน 1 ก.ก. เพื่อปรับสภาพการเป็นกรดของวัสดุเพาะ

4. รำข้าวละเอียด จำนวน 3-5 ก.ก.

5. ถุงทนร้อนพับก้นขนาด 6 นิ้วครึ่ง คูณ 12 นิ้ว ก.ก.ละ 60-70 บาท (ก.ก.จะบรรจุได้250ถุง)

6. คอขวดสำหรับสวมปากถุง มีจำหน่ายอันละ 35 สตางค์

7.ฝาปิดปากถุง อันละ 65 สตางค์

8. สำลีสำหรับปิดฝา

9. ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร มีฝาปิด(แล้วแต่จะทำมากหรือน้อย 1 ถังบรรจุถุงได้ 80-90ถุง)

วิธีทำ นำขี้เลื่อย จำนวน 100 ก.ก.ดีเกลือ 3 ขีด ปูนขาวหรือยิปซัม 1กก. รำละเอียด 3-5 กก.นำมาคลุกเคล้าผสมให้เข้ากันแล้วใส่น้ำสะอาดลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากันโดยอย่าใส่น้ำจนเปียกหรือแฉะทดสอบได้โดยการกำขี้เลื่อยที่ผสมเรียบร้อยแล้วว่าจับกันเป็นก้อนดีหรือไม่โดยไม่มีน้ำไหลออกมาและเมื่อคลายมือออกขี้เลื่อยจับกันเป็นก้อนดีเป็นอันว่าใช้ได้ แล้วนำมาบรรจุถุงใส่ถุงให้เกือบเต็มแล้วอัดให้แน่นอย่าให้หลวม จากนั้นนำคอขวดมาสวมแล้วพับปากถุงลงมาปิดด้วยฝาปิดที่อัดด้วยสำลีเรียบร้อยแล้ว เป็นอันว่าได้ก้อนปุ๋ยแล้ว นำก้อนปุ๋ยที่ได้ไปนึ่งในถัง 200 ลิตรโดยทำชั้นวางก้อนไว้ใส่น้ำทำการนึ่ง โดยจะต้องดูให้น้ำเดือดก่อนโดยมีไอน้ำพุ่งออกมาจึงปิดฝาให้สนิทแล้วเริ่มจับเวลาจะต้องนึ่งให้ได้ 2-3 ชั่วโมง เมื่อได้เวลาแล้วตั้งก้อนปุ๋ยให้เย็นแล้วนำเชื้อเห็ดที่เจริญเต็มที่ในเมล็ดข้าวฟ่างมาเขี่ยใส่ถุง ในการทำทุกขั้นตอนจะต้องมีความสะอาดเพราะเชื้อราอื่นๆที่อยู่ในอากาศจะเข้าไปทำลายได้โดยเฉพาะราเขียวจะทำให้ก้อนเชื้อไม่เดินเส้นใย(สามารถเช็ดด้วยแอลกอฮอล์) จากนั้นปิดด้วยกระดาษไม่ต้องปิดด้วยฝาปิดเพราะจะได้นำไปทำต่ออีก เมื่อเขี่ยเชื้อเสร็จเรียบร้อยแล้วให้นำก้อนเชื้อไปวางเรียงก้อนใว้ในที่ร่มหรือโรงเรือนที่เตรียมไว้สำหรับการออกดอกก็ได้ โดยเพาะเชื้อไว้2-3วันก็จะเห็นเส้นใยเดินเหมือนใยแมงมุมพักไว้ 25-30 วันก็สามารถเปิดปากถุงรดน้ำแต่อย่าให้น้ำเข้าในถุงจะทำให้ก้อนเชื้อเสียได้ รอประมาณ 5-7 วัน ก็จะเกิดดอกเห็ดขึ้นมาให้ท่านได้ชื่นชมแล้วประมาณ 2-3 วันก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว สามารถเก็บดอกจำหน่ายได้ทุกวันจนครบอายุ 5 เดือน

ราคามาตรฐานอยู่ที่ กิโลกรัมละ 20-25 บาท ( เช็ดราคาจริงตามตลาดอีกที )